บทบาทและหน้าที่ของสื่อมวลชน

          สื่อมวลชนมีบทบาทหน้าที่ดังนี้ คือ
          1. การเสนอข่าว หมายถึงการรายงานเหตุการณ์ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบ โดยเริ่มจากการแสวงหาเหตุการณ์ ข้อเท็จจริงที่เชื่อว่าประชาชนจะให้ความสนใจหรือเรียกว่า การหาข่าว แล้วนำมารวบรวม คัดเลือก และนำออกเผยแพร่สู่ประชาชน เช่น ข่าวความเคลื่อนไหว
ทางด้านการเมืองข่าวกีฬา ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวอาชญากรรม
          2. การเสนอความคิดเห็น ในสังคมประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคลและสังคม แต่ในทาง
ปฏิบัติประชาชนมีจำนวนมาก จึงไม่ค่อยมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นโดยตรง สื่อมวลชนซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรเผยแพร่ข่าวสารอยู่แล้ว จึงได้เข้ามามีบทบาท
ในการแสดงความคิดเห็นแทนประชาชนในเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อเสนอต่อสาธารณชนและรัฐบาล ในรูปของบทความ สารคดี บทวิเคราะห์วิจารณ์
บทบรรณาธิการ โดยมีจุดมุ่งหมายในเชิงสร้างสรรค์ โน้มน้าวจิตใจ ชี้นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม
          3. ให้ความบันเทิง ได้แก่ การนำเสนอเรื่องราวที่มีจุดมุ่งหมาย ให้ผู้รับเกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนาน ผ่อนคลายความเครียดในชีวิตประจำวัน สื่อมวลชน
แต่ละชนิดต่างก็มีจุดประสงค์ ที่จะให้ผู้รับ ได้รับทั้ง ข่าวสาร และความบันเทิง มากน้อยแตกต่างกันออกไปตามชนิดของสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร
มีเนื้อหาทั้งในเชิงวิชาการและบันเทิง วิทยุ โทรทัศน์ ส่วนใหญ่เป็นรายการประเภทบันเทิง เช่น ละคร เกมโชว์ ภาพยนตร์ เพลง เป็นต้น
          4. ให้การศึกษา เป็นการให้ข้อมูล ข่าวสาร แก่ประชาชนทั้งความรู้ในด้านวิชาการเฉพาะสาขา และความรู้ทั่วไป โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้คนเกิดการ
เปลี่ยนแปลงพัฒนาคุณภาพชีวิต ไปในทางที่ดีขึ้น เช่น หนังสือพิมพ์นำเสนอบทความที่ให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การเกษตร อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลป
วัฒนธรรม
          5. การประชาสัมพันธ์ และโฆษณา การประชาสัมพันธ์ (Public Relation ) เป็นกระบวนการสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนขององค์กรต่าง ๆ รวมทั้ง
องค์กรสื่อมวลชนเอง เพื่อให้ประชาชนมีเจตคติที่ดีต่อองค์กร ส่งเสริมให้องค์กร สามารถดำเนินกิจการได้ตามเป้าหมายการโฆษณา เป็นการนำเสนอข่าวสาร
ข้อมูล รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ เช่น ผลงาน สินค้าหรือการบริการต่าง ๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อชักชวนโน้มน้าวจิตใจให้คนรู้สึกตาม ปฏิบัติตาม หรือซื้อ
สินค้าและบริการต่าง ๆ คำว่า ” โฆษณา” ในภาษาไทยปัจจุบันถูกใช้ในความหมายที่แตกต่างกันหลายความหมาย คือ
             1) การโฆษณาสินค้า (Advertising) เป็นการโฆษณาที่พบเห็น และรู้จักกันอยู่ทั่วไป โดยมีจุดประสงค์ให้สามารถขายสินค้าได้มากที่สุด
             2) การโฆษณาเผยแพร่ (Publicity) เช่น การโฆษณาเผยแพร่ผลงานของรัฐบาล แจ้งความก้าวหน้าของงานที่กำลังทำอยู่รวมไปถึงการเผยแพร่
ความรู้ เช่น การวางแผนครอบครัว การป้องกันยาเสพติด ประโยชน์ของการออกกำลังกาย
             3) การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ได้แก่ การเสนอข่าวสารในเชิง ชักชวน ปลุกระดม ชี้นำความคิด เช่น การโฆษณาชักชวนของลัทธิการเมือง
ศาสนา การโฆษณาสินค้า ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย สื่อมวลชน และองค์กรสื่อมวลชนต่างก็มีรายได้หลักจากโฆษณาสินค้า จึงเป็นการเอื้อประโยชน์กันระหว่างสื่อมวลชน และเจ้าของสินค้าหรือกิจการต่าง ๆ ทำให้สื่อมวลชนกับการโฆษณาสินค้าเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะใช้สื่อมวลชนเพื่อการโฆษณาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
โดยเฉพาะการโฆษณาผ่าน social media ในรูปแบบต่าง ๆ ของทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน

กลับไปยัง เมนูแบบฝึกหัด